ย้อนอดีตโฮงหนังบ้านกาดและรถโดยสารตระกูล “ประกอบกิจ”

เรื่องโดย พ.ต.อ.อนุ เนินหาด อดีตสันป่าตอง

โรงภาพยนตร์ “บ้านกาด” และรถโดยสารของนายสมัย ประกอบกิจ ชาวบ้านกาด อำเภอแม่วาง ตระกูลใหญ่ของบ้านกาด อำเภอแม่วาง คือ ตระกูล “ประกอบกิจ”

เมื่อก่อนนั้น ตำบลบ้านกาด ยังอยู่ในเขตปกครองของอำเภอสันป่าตอง เริ่มจากนายสมัย ประกอบกิจ เกิดที่ย่านสันป่าข่อย ในตัวเมืองเชียงใหม่ มีเชื้อสายจีน เดิม แซ่ตั้ง วัยเด็กมาอยู่ช่วยพี่สาวค้าขายอยู่ที่ตลาดบ้านกาด พี่สาว ชื่อ เจ๊น้อย มาแต่งงานกับเจ๊กห่าน เปิดร้านค้าขายของชำอยู่มุมถนนหน้าตลาด ปัจจุบันร้านนี้ยังอยู่เป็นของรุ่นหลาน ชื่อ เจ๊มาลี อายุประมาณ 60 ปีเศษ ต่อมานายสมัย ประกอบกิจ ได้แต่งงานกับแม่เรือนคำ ขณะนั้นแม่เรือนคำอายุประมาณ 18 ปี (ประมาณปี พ.ศ.2491) หลังแต่งงานนายสมัย ประกอบกิจ ย้ายมาอยู่ที่บ้านของแม่เรือนคำ และช่วยกันทำมาหากิน

นายสมัย ประกอบกิจ เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ.2527 ปัจจุบันคงเหลือแม่เรือนคำ ประกอบกิจ อายุ 84 ปี เล่าการเริ่มต้นสร้างฐานะในอดีตว่า “หลังแต่งงานแล้วมาสร้างตูบอยู่ที่หน้าบ้านเดิมของพ่อแม่ ซื้อไม้มา 150 บาท แยกคนละหลังกับบ้านของพ่อแม่ ใช้ค้าขายโดยซื้อสินค้าที่จำเป็น เช่น น้ำมันก๊าด เกลือ สบู่ ไม้ขีดไฟ และของใช้อื่นๆ มาขาย แรกๆ ซื้อจากร้านคนจีนที่ตลาดบ้านกาด ต่อมาเมื่อมีทุนมากขึ้นไปซื้อจากเมืองเชียงใหม่มาขาย ซื้อร้านแถวสันป่าข่อย เช่น ร้านฮะเสงฮวด การเดินทางเข้าเมืองเชียงใหม่ก็ยากลำบาก “ต้องเดินเท้าจากบ้านกาดไปประมาณ 9 กิโลเมตร ไปถึงบ้านเปียงมีแม่น้ำขานขวางอยู่ ในหน้าน้ำนองน้ำเชี่ยวและตลิ่งทั้งขาไปและขากลับชันมาก ต้องข้ามเรือรับจ้าง แต่ต้องนำเสื้อผ้าห่อไปเพื่อไปเปลี่ยนชุดหนึ่งเพราะเวลาเดินลงตลิ่งและเดินขึ้นตลิ่งเป็นโคลน เสื้อผ้าจะเปรอะเปื้อน ต้องไปเปลี่ยนเสื้อผ้าที่บ้านลุงหนิม ที่บ้านเปียง แล้วขึ้นรถโดยสารที่บ้านเปียง เป็นรถของเฮียเลย คนสันป่าตองที่มาจอดรถรับคนอยู่ เข้าเมืองเชียงใหม่ “ซื้อของแล้วใส่รถของเฮียเลยมาลงที่บ้านเปียง และหาบของลงเรือข้ามาฝั่งบ้านกาด ขึ้นฝั่งแล้วจ้างเกวียนไปรับและบรรทุกกลับมาขายที่บ้าน”

การค้าขายของครอบครัวนายสมัย ประกอบกิจ เจริญก้าวหน้าตามลำดับจนมีทุนที่จะซื้อโรงสีข้าวมาสีข้าวขายและรับจ้างสีข้าวจากชาวบ้านทั่วไป “ประมาณ พ.ศ.2503 พอมีเงินมากขึ้น สามีไปซื้อโรงสีใหม่มาจากเชียงใหม่ มาตั้งอยู่ตรงข้ามบ้านที่สามีซื้อที่ดินไว้ และใช้สีข้าวขาย ข้าวเปลือกมักซื้อจากคุณสวรรค์ อุณจักร ซื้อคุณสวรรค์ ซื้อที่นาจากเจ้าไว้เยอะ ส่วนหนึ่งให้ชาวบ้านปลูกข้าวและอีกส่วนหนึ่งให้ปลูกยาสูบ คุณสวรรค์เป็นเจ้าของโรงบ่มใบยาของบ้านกาด “ข้าวสารสีแล้ว มีคนมาซื้อไปหุงกินและอีกส่วนหนึ่งมีแม่ค้าซื้อนำไปแบ่งขายที่ตลาด นอกจากนี้มีชาวบ้านละแวกใกล้เคียงมาสี เราเก็บเงินค่าสีข้าวไม่มาก จำไม่ได้ว่าเท่าไหร่”

ต่อมาได้ซื้อรถยนต์โดยสารมารับจ้างบรรทุกพืชผลทางการเกษตรและรับคนโดยสารระหว่างบ้านกาดและเมืองเชียงใหม่ “เริ่มซื้อคันเดียวก่อน ต่อมาซื้อคันที่สอง ไม่นานนักขายคันแรกและซื้อรถคอกหมูใหญ่ยี่ห้อเบนซ์ รับจ้างบรรทุกพืชผลการเกษตรตามฤดูกาลเข้าเชียงใหม่ เช่น กะหล่ำ ถั่วเหลือง หอม และรับคนโดยสารแทรกไปด้วย คนขับจ้างนายไลและนายธง เป็นคนขับ ส่วนสามีทำหน้าที่เก็บเงินโดยไปกับรถด้วย อีกคันหนึ่งให้พี่ของสามี ชื่อ ลุงเขิ่ง คอยเก็บเงิน รถคันแรกออกจากบ้านกาดประมาณ 9 โมง คันที่ 2 ออกประมาณ 11 โมง ขากลับถึงบ้านก็เย็นค่ำ ได้วันละเที่ยวต่อคัน ที่เชียงใหม่มักไปจอดตลาดต้นลำไย ต่อมาย้ายไปจอดตลาดเจ๊กโอ๊ว ภายหลังเจ้าหน้าที่บังคับให้จอดที่ประตูเชียงใหม่ รถโดยสารสายใต้จอดที่ประตูเชียงใหม่ทั้งหมด “สมัยที่ลงทุนซื้อรถโดยสาร สะพานข้ามแม่น้ำขานที่บ้านเปียงสร้างแล้ว เป็นสะพานคอนกรีต ประมาณปี พ.ศ.2495 จำได้เพราะลูกคนที่ 3 เกิดช่วงนั้น จำได้ว่าช่วงที่ทหารญี่ปุ่นเดินเท้าผ่านบ้านกาด เคยสร้างเป็นสะพานไม้ไผ่ใช้ข้ามชั่วคราวได้”

ต่อมาลงทุนทำโรงภาพยนตร์ แต่ไม่นานเริ่มมีโทรทัศน์ ทำให้ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ “ประมาณปี พ.ศ.2510 สามีลงทุนสร้างโรงหนัง ก่อนหน้านี้เรามีที่ดินว่างอยู่ก่อนถึงบ้านกาด ปัจจุบันคือ บริเวณธนาคารไทยพาณิชย์ มักมีหนังกลางแปลงมาเช่าฉายหนัง ต่อมาจึงคิดทำโรงหนัง ทำแบบถาวรฝาคอนกรีต หลังคากระเบื้อง ใช้ทุนถึง 1 ล้านบาทเศษ ใช้ชื่อว่า โรงหนังบ้านกาด สามีไปติดต่อหนังที่ใกล้ตลาดธานินทร์มาฉายเก็บเงิน คนสนใจมาชมกันมาก แต่ต่อมาไม่นานมีโทรทัศน์เข้ามา ทำให้ไม่กี่ปีก็ต้องเลิก

“โรงหนังที่บ้านกาด” ก่อนหน้านี้มีแล้ว 1 โรง เป็นของนายสุ่ม ปุรณพรรค์ เป็นคนในเมืองเชียงใหม่มาลงทุนปลูกหอมที่บ้านกาด ตอนเด็กแม่เคยไปรับจ้างเขาแกะหอมลิตรละ 2 สตางค์ เป็นคนฐานะดีและมาสร้างบ้านอยู่บ้านกาด ต่อมาได้ลงทุนสร้างโรงหนังที่ตรงข้ามบ้านของเขา ภายหลังเลิกกิจการ นายสุ่ม มีภรรยาชื่อ นางน้อย มีลูกสาว ชื่อ นางบัญชร ไปอยู่ต่างประเทศ และอีกคน ชื่อ แอปเปิล แต่งงานกับลูกชายหมอวงศ์ นายสุ่ม

นายสมัย ประกอบกิจและแม่คำ ประกอบกิจ มีบุตรธิดารวม 6 คน คือ
1.นายสมเดช ประกอบกิจ อดีตครูโรงเรียนห้วยแก้ว อำเภอสันกำแพง
2.นายอำนวย ประกอบกิจ
3.นางวงเดือน(อ้อย) ประกอบกิจ
4.นางปิยนุช ประกอบกิจ
5.นายรถ ประกอบกิจ เกิดปี พ.ศ.2501 แม่เรือนคำเล่าว่าระหว่างใกล้คลอด นั่งรถโดยสารของที่บ้านเพื่อจะไปคลอดที่โรงพยาบาลในตัวเมืองเชียงใหม่ ระหว่างทางก่อนถึงบ้านเปียง ได้คลอดในรถ ทำให้ต้องกลับมาบ้านและให้หมอพื้นบ้าน ชื่อ แม่ต๋อง มาช่วยทำคลอด
6.นายชาลี ประกอบกิจ

ภาพรถยนตร์บรรทุกแบบคอกหมูกำลังจอดรถคนโดยสารที่ตลาดต้นลำไย ในตัวเมืองเชียงใหม่ ประมาณ พ.ศ.2495 สมัยนั้นคนขับรถแต่งกายเรียบร้อยมาก

ในรูปคนขับที่ยืนหน้ารถคืออ้ายทิน ผัวแม่ออก ส่วนคนสูงชื่ออ้ายธง เจ้ารถนี้เป็นรถของแม่เฮือนคำ ลุงเบอะ ตระกูล ประกอบกิจ