ขุนแม ไมตรีราช อดีตกำนันตำบลบ้านแม

เรื่องโดย : อนุ เนินหาด (อดีตสันป่าตอง)
เรียบเรียงโดย : ศุภกิตติ์ คุณา

ตำบลบ้านแม เป็นตำบลอยู่ด้านทิศเหนือของอำเภอสันป่าตอง ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมโดยได้รับน้ำที่ผ่านทางลำเหมืองมาจากน้ำแม่ขาน เดิมที่ว่าการอำเภอสันป่าตองเคยตั้งอยู่ที่ริมถนนสายสันป่าตอง-แม่วาง ที่บ้านเปียงซึ่งเป็นเขตตำบลบ้านแม ตามประวัติระบุว่าพื้นที่ตำบลบ้านแมเคยมีการศึกษาและขุดค้นสันนิษฐานว่าเคยเป็นเมืองเก่าที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ครั้งสมัยพญามังรายสถาปนาเมืองแห่งนี้ขึ้นมาพร้อมกับการสร้างเวียงกุมกามเพื่อให้เป็นที่ประทับของพระนางเทพคำข่าย พระธิดาของเจ้ากระหม่อมฟ้ารุ่งแก่นชาย แห่งราชอาณาจักรสิบสองพันนา ด้วยว่าพระนางเทพคำข่ายมหาเทวีนั้นเป็นพระราชมารดาของพระองค์ เมื่อพญามังรายยึดเอาอาณาจักรหริภุญชัยได้แล้ว ได้ขยายอาณาเขตแผ่อำนาจไปสร้างเมืองขนาดย่อมเมืองหนึ่ง ซึ่งกล่าวกันว่าท่านสร้างให้พระมารดาเป็นการบูชาพระคุณแม่

ต่อมาสำเนียงคำว่าเวียงแม่นั้นกร่อนลงเหลือเพียงคำว่าเวียงแม และเป็นบ้านแมในที่สุด เวียงแมแต่โบราณนั้น มีอาณาบริเวณครอบคลุมระหว่างบ้านแม บ้านเจดีย์เนิ้ง และบ้านคุ้ม บ้านแม คือจุดศูนย์กลางของเวียง เพราะปรากฏให้เห็นซากของคูน้ำคันดิน กำแพงเมืองโบราณ และวัดวาอารามเก่าแก่ ช่วงหนึ่งตำบลบ้านแมมีผู้นำที่มีความรู้ความสามารถจนได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “ขุน” ชื่อว่า “ขุนแมไมตรีราช” ตระกูล วรรณลังกา ผู้หนึ่งที่ทันได้เห็นขุนแมไมตรีราช คือ พ่อแก้ว เดชฤาษี เกิดปี พ.ศ.2470 บ้านอยู่ข้างวัดร้องขุ้ม ตำบลบ้านแม เล่าความทรงจำเกี่ยวกับขุนแมไมตรีราชว่า

“ขุนแมมีศักดิ์เป็นปู่ของผม ภรรยาขุนแมเป็นพี่น้องกับย่าผม บ้านขุนแมอยู่ทางทิศตะวันออกของวัดร้องขุ้ม สมัยเด็กมักเรียกกันว่าขุนแมมัจจุราช เป็นกำนันตำบลบ้านแม ผมทันได้เห็นขุนแมสมัยเป็นเด็กผมวิ่งเล่นอยู่ในหมู่บ้านนี้ ตอนขุนแมตายผมอายุประมาณ 6 ขวบ (ประมาณ ปี พ.ศ.2476) งานศพจัดที่บ้านใหญ่โตมาก ผมไปวิ่งเล่นในบ้านด้วย มีการทำประสาทศพและลากไปป่าช้าร้องขุ้ม คนมากันเยอะ ปกติสมัยนั้นคนทั่วไปมักไม่มีประสาท ไปป่าช้าก็ช่วยกันหามกันไป แต่ของพ่อขุนทำประสาทและทำฐานด้วยต้นมะพร้าวและชาวบ้านช่วยกันลากไปป่าช้า “ขุนแมมีภรรยา ชื่อ บุญปั๋น พวกเรารุ่นลูกหลานมักเรียกว่า แม่เจ้าบุญปั๋น เพราะหลังจากขุนแมเสียชีวิตแล้ว แม่เจ้าบุญปั๋นไปบวชเป็นแม่ขาวที่วัดน้ำบ่อหลวง ต่อมากลับมาอยู่ที่วัดร้องขุ้นและมาตายที่นี่ แม่เจ้าบุญปั๋น อายุยืน รุ่นลูกตายก่อนหลายคน “ที่บ้านขุนแมสมัยนั้นใช้เป็นที่ตัดสินคดีความ ใครมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกันจะมาให้ขุนแมตัดสินชี้ขาด ไม่ต้องไปแจ้งความ โดยจะมีหนานปัญญา คนบ้านกิ่วแลหลวง ทำหน้าที่เป็นทนายความคอยตัดสินให้

“ขุนแม รูปร่างเล็ก สมัยนั้นไม่นุ่งผ้าเตี่ยว แต่นุ่งผ้าต้อยแบบนุ่งโจงกระเบน เวลาไปประชุมขุนแมก็นุ่งโจงกระเบน สมัยเด็กทันได้เห็น ไปประชุมอำเภอที่บ้านเปียง เดินเท้าไปห่างประมาณ 5 กิโลเมตร บ้านของขุนแมเป็นบ้านหลังใหญ่กว่าใครในหมู่บ้าน เสาเรือนต้นใหญ่ ไร่นามีเยอะเป็นร้อยไร่ ไร่นามักอยู่ที่หมู่ 4 และอยู่รอบหมู่บ้านเรา ต่อมาแบ่งให้รุ่นลูกและบางคนแบ่งขายไปบ้าง

“ขุนแมคึ คือ มีฤทธิ์มีเดช อู้ใดเป็นนั้นแต้ สมัยก่อนผู้ใหญ่บ้านรองจากขุนแมจะเรียกเป็น ต้าว (ท้าว) เช่น ต้าวย่น อยู่บ้านสัน ต้าวเกหะ อยู่บ้านร้องขุ้มหมู่ 4 พ่อแก้ว เดชฤาษี เล่าว่าขุนแมไมตรีราช ใช้นามสกุลว่า “วรรณลังกา” มีภรรยาชื่อ แม่บุญปั๋น รุ่นลูก คือ

  1. พ่อน้อยใจ๋
  2. พ่อหนานคำมูล
  3. แม่บัวผัน (สามีชื่อ ชื่อนายยก เดชฤาษี ชาวบ้านดงฤาษี อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน เคยมาทำหน้าที่เลี้ยงม้าให้ขุนแมไมตรีราช ต่อมาขุนแมฯเห็นว่ามีความขยันหมั่นเพียรจึงได้ยกลูกสาว คือ แม่บัวผันให้แต่งงานด้วย-เป็นย่าของคุณบัณฑิต เดชฤาษี)
  4. พ่อน้อยหลาน
  5. แม่ตวง สามีรับราชการเป็นอดีตสรรพากรอำเภอ

“รุ่นลูกพ่อหนานคำมูลรวยกว่าคนอื่น ได้มรดกมาและซื้อเพิ่ม มีเป็น 100 ไร่ พ่อหนานคำมูล ต่อมาเป็นพ่อหลวง(ผู้ใหญ่บ้าน) บ้านร้องขุ้มต่อจากขุนแม แต่ไม่ได้เป็นกำนัน กำนันต่อมา คือ กำนันประดิษฐ์ ปันทาวงศ์ บ้านเนิ้ง พ่อหนานคำมูลมีภรรยาชื่อ แม่เขียว คนบ้านสันเหนือ รุ่นลูกมีหลายคน ภายหลังขายไร่ขายนาไปอยู่กับลูกที่อำเภอฝางไปอยู่กับลูก แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ กลับมาอยู่กับลูกชายที่เมืองเชียงใหม่ ลูกชายรับราชการเป็นสัสดี ชื่อ นายบุตร วรรณลังกา เสียชีวิตในเมืองเชียงใหม่ “ส่วนบ้านและที่ดินบริเวณบ้าน คนที่รับมรดก คือ แม่ตวง ลูกคนเล็ก แต่งงานกับนายสมบูรณ์ คนเชียงใหม่ มีลูกชาย 1 คน ชื่อ นายสงวน เสียชีวิตแล้ว มีภรรยาชื่อ สมบูรณ์ ยังมีชีวิตอยู่ที่บ้านเดิมของขุนแม แต่บ้านเดิมรื้อแล้วสร้างใหม่”

ด้านพ่อแก้ว เดชฤาษี เล่าว่ารุ่นหม่อน (ทวด) อพยพมาจากบ้านดงฤาษี อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน เริ่มจากแม่อุ๊ยดี ซึ่งเป็นพี่น้องกับแม่อุ๊ยบุญปั๋น ภรรยาของขุนแมไมตรีราช

แม่อุ๊ยดี แต่งงานกับพ่ออุ๊ยปัน คนบ้านร้องขุ้ม รุ่นลูกประมาณ 7 คน คนหนึ่ง คือ อุ๊ยผง แต่งงานกับอุ๊ยจันทร์ เดชฤาษี คนอำเภอบ้านโฮ่ง ลำพูน ที่อพยพมาอยู่บ้านร้องขุ้มเช่นเดียวกัน รุ่นลูก คือ เอ้ยธรรม, พ่อแก้ว เดชฤาษีและนางตุมมา วัยเด็กพ่อแก้ว เดชฤาษี เรียนที่โรงเรียนวัดร้องขุ้ม หลังจากจบประถมปีที่ 4 แล้วออกมาช่วยพ่อแม่ทำนา ขณะอายุ 14-15 ปี ทันได้สัมผัสเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ ๒ เล่าว่าทางอำเภอบ้านแมให้ไปประชุมที่โรงเรียนบ้านแม สั่งการเรื่องให้ขุดหลุมหลบภัยทุกบ้าน เมื่อเครื่องบินข้าศึกบินผ่านให้ลงหลุมหลบภัย พ่อแก้ว บอกว่าบ้านร้องขุ้มไม่มีปัญหาจากสงครามโดยตรง แต่ขณะนั้นขาดแคลนเสื้อผ้า ไม่มีขาย ในครอบครัวต้องปลูกฝ้ายและปั่นฝ้ายมาทอผ้า และตัดเป็นเสื้อกางเกงม่อห้อมไว้ใช้

ช่วงวัยหนุ่มพ่อแก้ว เดชฤาษี เคยมีรายได้ส่วนหนึ่งจากการตัดไม้สักและไม้เนื้อแข็งอื่นๆ ที่มีมากบริเวณป่าต้นน้ำแม่ขาน เขตอำเภอแม่วาง ซึ่งไม่ไกลจากบ้านร้องขุ้ม มีการนัดหมายกับกลุ่มเพื่อนในหมู่บ้าน เตรียมอาหารกลางวันไปกินในป่า นำงัวล้อ (เกวียน)ไปด้วย ไปร่วมกันใช้ขวานตัดไม้ ทอนกิ่งออกและบรรทุกเกวียนกลับมาซ่อนไว้ใกล้บ้าน หลังจากนั้นช่วยกันเลื่อยด้วยเลื่อยมือเป็นแผ่น นำมาสร้างบ้านหรือยุ้งข้าวแบบง่ายๆ มักมีคนจากหมู่บ้านอื่นมาขอซื้อ เป็นการหารายได้เมื่อหมดจากหน้าทำนาแล้วของคนในรุ่นนั้น จากข้อมูลที่พ่อแก้ว เดชฤาษี เล่าว่าขุนแมไมตรีราช เสียชีวิตประมาณปี พ.ศ.2476 คาดว่าขุนแมไมตรีราชมีชีวิตอยู่ระหว่าง ปี พ.ศ.2410-2476

ผลงานของขุนแมไมตรีราชส่วนหนึ่ง พ่อแก้ว เดชฤาษีบอกว่า ขุนแมไมตรีราชเป็นผู้เริ่มต้นสร้างโรงเรียนวัดร้องขุ้มให้ลูกหลานได้มีสถานที่เล่าเรียนกัน ซึ่งต่อมาโรงเรียนแห่งนี้ได้รับการพัฒนาโดยครูบาบุญปั๋น อดีตเจ้าอาวาสวัดร้องขุ้ม ตั้งเป็นชื่อโรงเรียนว่า “โรงเรียนวัดร้องขุ้ม (บุญปั๋นราษฎร์วิทยามัย)” ปัจจุบันโรงเรียนแห่งนี้ยุบเลิกเนื่องจากนักเรียนมีน้อย