ขุนยุหว่า ตระกูล เมธาวิสัย
เรื่องโดย อนุ เนินหาด
อดีตสันป่าตอง

สมัยที่นครเชียงใหม่เริ่มมีการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล ผู้ปกครองที่ได้รับการแต่งตั้งหากมีผลงานการปฏิบัติหน้าที่จะได้รับพระราชททานบรรดาศักดิ์เริ่มตั้งแต่ หมื่น ขุน หลวง พระยา เป็นต้น ผู้ปกครองตำบลต่างๆในเขตอำเภอสันป่าตองที่สมัยก่อนเรียงว่า ตำบลบ้านแม มีผู้ได้บรรดาศักดิ์ คือ ขุนแมไมตรีราษฎร์ ขุนกาดกิจประชาและขุนยุหว่า เมธาวิสัย ผู้ปกครองทีมีชื่อเสียงในอดีต คือ ขุนยุหว่า ตระกูล เมธาวิสัย ข้อมูลจากเอกสารที่รุ่นลูกหลานสืบค้นไว้ มีประวัติว่า ขุนยุหว่า ชื่อจริงคือ นายปาน เมธาวิสัย เกิดเมื่อปี พ.ศ.2410 เป็นบุตรของนางนายคำปันและนางซ้อน มีพี่น้องรวม 6 คน คือ

  1. ท้าวมงคล มีบุตรชายคนเดียวคือ ตุ๊เจ้าเมือง
  2. แสนขันแก้ว มีบุตรธิดา 4 คน คือ แม่อุ๊ยแก้ว, พ่ออุ๊ยปัน, พ่อหนานถา, พระภิกษุจันทร์และพ่อหล้าติ๊บ
  3. แม่อุ๊ยซุนตา
  4. แม่อุ๊ยคำมูล
  5. แม่อุ๊ยฟองจันทร์
  6. พ่อหนานปาน เมธาวิสัย (ขุนยุหว่า)

พ่อขุนยุหว่า หรือ พ่อหนานปาน เมธาวิสัย รุ่นลูกรุ่นหลานบอกว่า นามสกุล “เมธาวิสัย” ได้รับการประทานจากเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 9 (องค์สุดท้าย)
ขุนยุหว่า เกิดที่บ้านสันป่าตองใน อยู่ถัดจากหลังที่ว่าการอำเภอสันป่าตองมาทางทิศตะวันตก ประมาณ 1 กิโลเมตร ส่วนด้านการศึกษานั้นได้บวชเรียนที่วัดสันป่าตอง ซึ่งเป็นวัดในหมู่บ้าน ขุนยุหว่า ครอบครองที่ดินประมาณ 300 ไร่ อยู่ในเขตบ้านสันป่าตอง บ้านดอนตันและบ้านร้อง ต่อมาแบ่งให้ชาวบ้านที่เป็นบริวารบางส่วน

การครอบครองที่นาจำนวนมากดังกล่าว รุ่นหลานเล่าว่าได้มาจากความขยันมัธยัสถ์ เก็บออมของพ่อขุนยุหว่า เมื่อว่างการทำนาก็หันไปค้าขาย โดยนำสินค้าจากทางภาคเหนือใช้วัวบรรทุกสินค้าไปขายทางภาคกลางเป็นขบวนคาราวาน ส่วนขากลับได้ซื้อสินค้าจำพวกปลาเค็มมาขายที่เชียงใหม่ ได้ผลกำไรดี นอกจากนี้รายได้จากการทำนาเมื่อข้าวเปลือกมีราคาดี ได้นำออกขาย นำเงินมาซื้อที่นาเพิ่มมากขึ้นอีก โดยเฉพาะในช่วงหนึ่งที่ชาวบ้านส่วนหนึ่งขายที่นาและนำเงินไปซื้อที่นาทางอำเภอแม่แตง อำเภอเชียงดาวและอำเภอฝาง ซึ่งที่นามีราคาถูก ชาวบ้านอพยพไปส่วนหนึ่ง พ่อขุนยุหว่าได้ซื้อที่นาจากชาวบ้านกลุ่มนั้นไว้

นอกจากนี้พ่อขุนยุหว่ายังรับดูแลที่นาของลูกหลานเจ้าแก้วนวรัฐด้วย ซึ่งมีนาอยู่ในเขตอำเภอสันป่าตองหลายแปลง เจ้าของนาชื่อว่า เจ้าแต้ม เจ้าทา ชาวบ้านจึงเรียกว่า “นาเจ้า” เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ การขยันหมั่นเพียรในการประกอบอาชีพทำให้พ่อขุนยุหว่ามีที่นาในเขตตำบลยุหว่ามากกว่าคนอื่นๆ

พ่อขุนยุหว่า ได้ชื่อว่าเลื่อมใสในพระพุทะศาสนา ได้อุปสมบทเป็พระภิกษุที่วัดสันป่าตอง หลังจากลาสิกขาแล้วก็หมั่นทำบุญมาโดยตลอด คราวหนึ่งได้ร่วมกับขุนอนุพลนคร นิมนต์ครูบาเจ้าอินทจักร์รักษา ให้มาประจำอยู่ที่วัดน้ำบ่อหลวง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ได้ร่วมกับขุนอนุพลนครและคณะศรัทธาทั้งจากตำบลยุหว่า ตำบลสันกลาง ตำบลบ้านแม ร่วมกันพัฒนาวัดน้ำบ่อหลวง ก่อสร้างกุฏิ ศาลาการเปรียญ จากเดิมที่เป็นพื้นที่ป่าไม้ที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้างใดๆ จนมาเป็นวัดที่ใหญ่โตและมั่นคง

ขุนยุหว่า

นอกจากนี้คราวที่ครูบาศรีวิชัยสร้างถนนขึ้นพระธาตุดอยสุเทพ พ่อขุนยุหว่ายังได้ไปร่วมทำถนนและค้างอ้างแรมเป็นเวลานับเดือนจนถนนเสร็จ ด้านครอบครัว พ่อขุนยุหว่า สมรสกับนางก๋องแก้ว มีบุตรชาย 1 คน คือ นายอภิรักษ์(หนานอินตา) เมธาวิสัย ดำรงตำแหน่งกำนันตำบลยุหว่าต่อจากพ่อขุนยุหว่า พ่อขุนยุหว่า เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ.2505 ขณะอายุ 95 ปี (ตามเอกสารประวัติขุนยุหว่า)
รุ่นลูกคือ นางอภิรักษ์ แต่งงานกับนางจำปี มีบุตรธิดารวม 5 คน คือ

  1.  อาจารย์ตวง ธรรมะสโร (ดวงคำ เมธาวิสัย)
  2. นางบุญยืน เมธาวิสัย
  3. นางสุจิน รัตกสิกร (แต่งงานกับนายแพทย์วิรัตน์ รัตกสิกร)
  4. ร้อยเอกสุรพล เมธาวิสัย รับราชการเป็นนายอำเภอ
  5. แม่ครูบัวแก้ว กันทวี

รุ่นหลานคนหนึ่งคือ แม่ครูบุญยืน เมธาวิสัย อายุ 91 ปี เกิดปี พ.ศ.2467 เล่าว่าสมัยเด็กเข้าเรียนที่โรงเรียนสุวรรณราษฎร์สันป่าตอง จบชั้นประถมปีที่ 4 ได้ออกมาช่วยครอบครัวดูแลไร่นา แม่บุญยืน ยังทันได้เห็นขุนยุหว่าที่มีศักดิ์เป็นปู่สมัยเด็ก

“ทันได้เห็นพ่อขุนยุหว่าสมัยนั้นยังเป็นเด็กอยู่ พ่อขุนยุหว่าเสียชีวิตตอนอายุ 95 ปี สมัยก่อนพ่อขุนยุหว่าไร่นาเยอะ ประมาณ 300 ไร่ บางส่วนถูกแบ่งให้ลูกน้องไปมาถึงรุ่นลูกก็แบ่งเป็นรดก มาถึงรุ่นยายได้รับมาประมาณ 70 ไร่ แต่ละปีก็จ้างชาวบ้านทำนา บ้านเดิมของพ่อขุนยุหว่าเป็นบ้านไม้สักโบราณหลังใหญ่ ต่อมาบ้านหลังเก่าทรุดโทรมจึงได้รื้อสร้างใหม่ พ่อขุนยุหว่าเป็นผู้บริจาคที่ดินให้สร้างโรงเรียนวัดกู่คำ(เมธาวิสัยคณาทร) เดิมโรงเรียนเปิดสอนในวัดกู่คำ ต่อมาพ่อขุนยุหว่าเห็นความจำเป็นด้านการศึกษาของเด็กจึงบริจาคให้สร้างโรงเรียน ต่อมาภายหลังทางโรงเรียนได้ซื้อที่เพื่อขยายเพิ่มเติม

คนที่รู้จักและสนิทสนมกับพ่อขุนยุหว่าคนหนึ่งคือ นายสีหมื่น วณีสอน อดีตนายอำเภอสันป่าตอง ซึ่งบ้านเขาอยู่บ้านม่วงพี่น้อง มักจะแวะหาคุยกับพ่อขุนยุหว่า และมักจะนำปลาร้ามาฝากพ่อขุนยุหว่าทำมาเป็นโอ่ง”

แม่บุญยืนต่อมาได้แต่งงานกับนายพิพัฒน์ ศิริวัฒรางกูร ชาวอำเภอสันป่าตอง หลังแต่งงานแล้วได้โยกย้ายไปอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อให้รุ่นลูกได้รับความสะดวกด้านการศึกษาเล่าเรียน โดยซื้อตึกแถวที่ใกล้ตลาดต้นลำไย รวม 3 ห้อง เจ้าของเดิมคือ เจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่ แม่บุญยิ่งและสามีเปิดขายข้าวสาร เมี่ยงและรวมทั้งพืชผลทางการเกษตร ใช้ชื่อว่า “ร้านใบเมี่ยงเชียงใหม่” ต่อมาร้านแห่งนี้ถูกทางราชการเวนคืนเพื่อสร้างถนนเลียบข้างแม่น้ำปิง

รุ่นหลานของพ่อขุนยุหว่าที่ยังมีชีวิตอยู่อีกคนคือ แม่ครูบัวแก้ว กันทวี ปัจจุบัน (พ.ศ.2559) อายุ 85 ปี เกิดปี พ.ศ.2474 ที่บ้านหลังเดิมของพ่อขุนยุหว่า เดิมเป็นบ้านไม้โบราณกว้างใหญ่ มีเสาประมาณ 80 ต้น แม่ครูบัวแก้ว บอกว่าบ้านที่สร้าง พ่อขุนยุหว่าไม่ให้ใช้ไม้สัก เพราะอยากทำตัวเป็นแบบอย่างให้กับชาวบ้าน ไม่อยากทำผิดกฏหมายเรื่องตัดไม้สักมาสร้างบ้าน จึงใช้ไม้เนื้อแข็งธรรมดา มาปลูกสร้างบ้านทำให้ภายหลังมีปัญหาเรื่องปลวกกินเนื้อไม้ ต่อมาบ้านหลังเดิมจึงถูกรื้อสร้างใหม่สมัยคุณพ่อ คือ นายอภิรักษ์ เมธาวิสัย เมื่อปี พ.ศ.2514 คุณพ่อคือ นายอภิรักษ์ เมธาวิสัย เป็นกำนันตำบลยุหว่าต่อจากพ่อขุนยุหว่า ชาวบ้านมักเรียกว่า พ่อหนานอินตา ตามชื่อเดิม วัยเด็กพ่ออภิรักษ์เรียนหนังสือที่วัดสันป่าตอง สามารถเขียนหนังสือตัวเมือง(ล้านนา) ได้สวยงามมาก และเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ.2521

แม่ครูบัวแก้วกันทวี

แม่ครูบัวแก้ว เล่าเรื่องพ่อขุนยุหว่าที่มีศักดิ์เป็นปู่ว่า

“ขุนยุหว่า” คำว่า ยุหว่า น่าจะมาจากคำเมืองที่อ่านควบว่า ยว่า แปลว่ามากมาย เช่นคำเมืองที่ว่ามีลูกมากจะใช้คำว่า มีลูกมีหลานเหมือนปูยว่าๆ ต่อมาจึงเพี้ยนเป็นคำว่า ยุหว่า พ่อขุนยุหว่ามีอำนาจมากในตอนนั้น ชาวบ้านนับถือ เวลามีงานปอย งานบวช จะให้อุ้ย(พ่อขุนยุหว่า) ไปนั่ง จะไม่มีเหตุชกต่อยกัน อุ๊ย(ขุนยุหว่า) เป็นคนขยัน ละแวกนี้เป็นลูกหลานเกือบทั้งหมด หน้าฤดูทำนาก็จะเกณฑ์ลูกหลานมาช่วยกันทำนา เมื่อขายข้าวได้เงินก็ไม่รู้จะนำเงินไปไว้ที่ไหน สมัยนั้นยังไม่มีธนาคาร ตอนเด็กได้ทันเห็นอุ๊ยและพ่อแม่ นำเงินเหรียญบาทเป็นเหรียญทองแดงวางที่เสื่อและช่วยกันนับใส่ถุงที่ทำเป็นกระสอบเล็กๆ ถุงละ 100 บาท นำไปซ่อนในยุ้งฉางข้าว ซ่อนในกองข้าวเปลือก ยุ้งฉางข้าวสมัยอุ้ยเล็กกว่ายุ้งฉางที่เห็นปัจจุบันนี้เล็กน้อย ต่อมาปลวกกินจึงได้รื้อทิ้งและทำการสร้างใหม่

เมื่อได้เงินจากการขายข้าวก็นำมาซื้อที่นาเพิ่ม สมัยวัยเด็กชาวบ้านมักอพยพไปอยู่ทางอำเภอแม่แตง อำเภอเชียงดาว อำเภอฝาง หากมีที่นาที่นี่ 5 ไร่ สามารถไปซื้อที่โน้นได้ 10 ไร่ เขาก็อพยพกันไป อุ๊ยก็ซื้อที่นาทางนี้ไว้ จึงได้ที่นาเพิ่มขึ้น หน้าฤดูทำนาก็เอาลูกหลานมาช่วยกันทำนา สมัยนั้นใช้ควายไถนา ซึ่งอุ๊ยมีควายอยู่ประมาณ 20 กว่าตัว ให้เขาเลี้ยงที่อำเภอจอมทอง พอถึงหน้าฤดูทำนาก็ให้ต้อนมาไว้ที่ข้างบ้าน ทำคอกไว้ นำไปไถนา หมดหน้านาก็ต้อนไปเลี้ยงที่อำเภอจอมทองอีก ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีอำเภอดอยหล่อ เป็นอำเภอสันป่าตองแล้วก็เป็นอำเภอจอมทอง ที่นำไปเลี้ยงจอมทองเพราะว่าทางบ้านเราไม่มีทุ่งกว้างสำหรับเลี้ยงวัวควาย เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จได้ข้าวมาก็แบ่งให้ลูกหลานที่มาช่วย ลูกหลานบางคนมีครอบครัวก็แบ่งที่นาให้ สมัยนั้นที่หัวไร่ปลายนาไม่มีราคา ก็แบ่งให้ลูกหลานไป

สำหรับปัจจุบัน โรงเรียนวัดกู่คำ(เมธาวิสัยคณาทร) เป็นโรงเรียนที่เปิดสอนตั้งแต่ชั้นเตรียมอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ตั้งอยู่บ้านดอนตัน หมู่ 12 ตำบลยุหว่า อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างประโยชน์แก่สาธารณะของพ่อขุนยุหว่าที่สร้างไว้ใว้ให้คนรุ่นหลังได้รับประโยชน์สืบมา

ตำบลยุหว่าเป็นตำบลที่มีพื้นที่ในอาณาเขตอยู่ในอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับอนุมัติจัดตั้งเป็นตำบลเมื่อ พ.ศ.2482 โดยชื่อตำบลยุหว่านั้นมาจากชื่อของกำนันคนแรกในเขตการปกครองตอนนั้น คือ “พ่อขุนยุหว่า” ตำบลยุหว่าเป็นตำบลที่มีขนาดที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอสันป่าตอง ประกอบไปด้วยหมู่บ้าน 15 หมู่บ้าน มีการปกครองอยู่ 2 เขตการปกครองคือ เทศบาลตำบลสันป่าตอง และเทศบาลตำบลยุหว่า เป็นตำบลที่มีศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจ ความเจริญและศูนย์ราชการของอำเภอสันป่าตอง