อ้ายเปา จ่าห้าบั้งแห่งสันป่าตอง

เรื่องโดย วาทตะวัน สุพรรณเภษัช
เรียบเรียงโดย ศุภกิตติ์ คุณา

ตอนนี้มีข่าวเกี่ยวกับตำรวจเยอะมาก แต่อยากเล่าเรื่อง “จ่า” อีกท่านหนึ่ง ที่มีบั้งมากกว่าจ่าธรรมดาที่ในสมัยก่อนนั้น มีอยู่ 4 บั้ง ตามคำร้องเล่นของลูกตำรวจสมัยก่อน เวลาทำท่าเดินแถวขึงขังแบบพ่อของตัว เดินไปปากก็ร้องไปว่า

…ตั้งตะลิ๊ดติ๊ดตั้ง ฉันเป็นสิบตรี ฉันก็มีหนึ่งบั้ง
ตั้งตะลิ๊ดติ๊ดตั้ง ฉันเป็นสิบโท ฉันก็โจ้สองบั้ง
ตั้งตะลิ๊ดติ๊ดตั้ง ฉันเป็นสิบเอก ฉันก็เขกสามบั้ง
ตั้งตะลิ๊ดติ๊ดตั้ง ฉันเป็นนายจ่า ฉันก็ว่าสี่บั้ง…

จ่าที่ผมว่านี้ มี “ห้าบั้ง!”

เชื่อหรือไม่ครับว่า ผู้ที่มีความบกพร่องทางสมองหรือที่เราเรียกกันว่า “ไม่เต็ม (เต็ง..บาท)” หรือบางคนหาว่า “บ้า” เอาเลย เหล่านี้ถ้าเรามองกันลึกลงไปในหัวใจของเขา แล้ว จะเห็นได้ว่า ก้นบึ้งของหัวใจของพวกเขานั้น ช่างงดงามและเป็นความบริสุทธิ์อย่างไม่มีที่เคลือบแคลง เขาเหล่านี้คงเพียงต้องการเป็นคนดี และอยากช่วยเหลือเจ้าพนักงานและสังคมเท่านั้น คนแบบนี้มีอยู่ในหลายจังหวัด บางคนก็เป็นลูกคนมีฐานะ ตอนเช้าพ่อแม่ญาติพี่น้อง เอามาส่งที่ท้องถนน เพื่อให้เขาได้ควบคุมการจราจรตามความประสงค์ ผมคิดว่าเราควรมองเขาด้วยความเมตตา และเห็นใจ คอยคุยกับเขา ให้กำลังใจเขา บ้าง น่าจะเป็นเรื่องที่ดี

ผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานอย่างนี้ มีอยู่คนหนึ่งที่ประทับใจผมมาก บุคคลท่านนี้ ชาวเชียงใหม่ เรียกเขาว่า “อ้ายเปา สิงห์สามแยก” ( “อ้าย” ที่แปลว่า “พี่ชาย” ในภาษาเมือง) ที่เป็นเด็กหน่อยก็เรียก “ลุงเปา” ฉายาสามแยก คงมาจากสถานที่อ้ายเปาชอบไปอยู่นั้นเป็นสามแยกสันป่าตองซึ่งเป็นแยกที่จะไปบ้านกาด

“อ้ายเปา” เป็นคนสันป่าตอง เชียงใหม่โดยกำเนิด ผมไม่ทราบว่า “อ้ายเปา” มีญาติพี่น้องอยู่กี่คน แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมรู้จักตัวแกค่อนข้างดี “อ้ายเปา” เป็นผู้ที่มีความบกพร่องทางสมอง จึงไม่เหมือนคนปกติ ทางเหนือเรียกว่า “คนสึงตึง” อย่างที่คุณจรัล มโนเพชร เคยร้องเอาไว้ในเพลงว่า “อ้ายเป็นคนสิ่งตึง…” ซึ่งภาษาไทย ภาคกลางอาจใช้คำว่า “ไม่เต็มบาท” หรือ “บ้าๆ บอๆ” ทำนองนั้น แต่ความบกพร่องนั้นไม่ได้เป็นอุปสรรคขัดขวางการดำเนินชีวิตอย่างสุจริตของ “อ้ายเปา” แต่อย่างใดเลย

“อ้ายเปา” ฝังตัวอยู่ที่ตลาดสันป่าตอง ทำหน้าที่ช่วยเหลือพ่อค้าแม่ค้าในการขนข้าวของ ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยด้วย ไม่ยอมให้ใครมาลักของคนค้าขายในตลาด หากใครหาญกล้ามาขโมย “อ้ายเปา” จะไล่กวดจับ และใช้มือซึ่งแข็ง เหมือนคีมเหล็ก จับกุมเอาไว้อย่างมั่นคง ใครที่ถูกอ้ายเปาจับรับรองว่าดิ้นหลุดยาก เหตุที่ผมรู้ว่าอ้ายเปามือแข็ง ก็เพราะเคยบีบมือประลองกันมาแล้ว

“อ้ายเปา” แต่งกายคล้ายตำรวจ มีชีวิตกินอยู่หลับนอนในตลาดสันป่าตองมาโดยตลอด มีรายได้จากพ่อค้า แม่ค้าและผู้คนที่เอื้อเฟื้อเจือจานตอบแทน ที่แกใช้แรงกายช่วยเหลือเขา ตกกลางคืน “อ้ายเปา” จะสวมหมวกแบบตำรวจ แต่ไม่มีหน้าหมวก ถือปืนยาวทำด้วยไม้ ยืนเฝ้าตลาดคุ้มกันหัวขโมย พ่อค้าแม่ค้ามีความอบอุ่นใจ

เหตุที่รู้จักกับ “อ้ายเปา” ก็เพราะเมื่อสมัยผู้เขียนเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบสถานีตำรวจอยู่นั้น แกจะติดรถสี่ล้อเล็กเข้ามาในเมือง โดยแต่งเครื่องแบบประจำตัว สวมหมวก แบกปืนทำจากไม้เป็นปืนยาว และแวะมาหาผมที่โรงพักเสมอ ก็ได้ทักทายพูดคุยกัน มีค่ากาแฟและขนมเป็นของชำร่วยให้ “อ้ายเปา” ทุกครั้ง บางครั้งก็ให้เสื้อผ้าชุดเครื่องแบบสีกากี “อ้ายเปา” ไปด้วยกับเพราะตัวสูงใหญ่พอๆกัน ใส่กันได้เกือบพอดี

ครั้งหนึ่งผมเอาบั้งสิบตำรวจเอก ซึ่งมีสามบั้ง และบั้งสิบตำรวจโทซึ่งมีสองบั้ง ให้คนเขาเย็บรวมกันเป็น “ห้าบั้ง” แล้วให้เป็นของขวัญกับ “อ้ายเปา” ซึ่งแกเอาไปติดเสื้อชุดเครื่องแบบของตัวเองโก้ไปเลย ผมบอกว่าถ้าใครถาม ให้บอกว่าผู้กองเมืองเลื่อนยศให้แล้ว โดยให้เป็น… “จ่าห้าบั้ง!” แกก็ยิ้ม ชอบอกชอบใจ

“อ้ายเปา” ปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ประจำอยู่ที่ตลาดอำเภอสันป่าตอง ด้วยความเต็มใจด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่เคยเกี่ยงในเรื่องการช่วยเหลือแม่ค้าพ่อค้าในตลาด ตลอดจนผู้คนที่มาจับจ่ายซื้อของ เมื่อพ่อค้าแม่ขายลงของในตลาดเสร็จ ในตอนกลางคืน “อ้ายเปา” จะออกยืนเฝ้าอยู่หน้าตลาด ซึ่งตลาดอำเภอสันป่าตองนั้นอยู่ติดถนนใหญ่ ผู้คนที่ผ่านไปมา จะเห็น “อ้ายเปา” แต่งชุดสีกากี ใส่หมวกตำรวจ แต่ไม่มีหน้าหมวก ยืนท่า “ตามระเบียบพัก” โดยผลักปืนไม้ทำเองเฉียงไปข้างหน้า ท่าทางขึงขังมากกว่าตำรวจจริงเสียอีก

กระทั่งวันหนึ่ง “อ้ายเปา” ล้มเจ็บและตายไป แม่ค้าพ่อค้าหลายคนในตลาดถึงกับ หลั่งน้ำตา! ใครจะเชื่อหรือไม่ว่า วันที่เผา “อ้ายเปา” ที่สุสาน ผู้คนในเมืองเชียงใหม่ไปกันมากมายสักสองพันคนเห็นจะได้ เพื่อไปเผา “อ้ายเปา คนดีศรีเมืองเชียงใหม่” ชาวเมืองเขาพูดกันว่า คนมางานศพ “อ้ายเปา” นั้น “มากกว่า…งานศพนายพลเสียอีก!”

ภาพอ้ายเปาจาก มหัศจรรย์สันป่าตอง

“อ้ายเปา” เป็นผู้ที่ผมและตำรวจเชียงใหม่อีกมากไม่อาจลืมได้เลย ส่วนจะด้วยเหตุผลใดนั้น จะขอเล่า ให้ท่านผู้อ่านฟังกัน ตำรวจนั้น จะได้รับการตรวจจากผู้บังคับบัญชาเป็นประจำ ตามวงรอบการของตรวจราชการ แต่ที่สำคัญก็คือการตรวจราชการของ “จเรตำรวจ” ที่เป็นหน่วยตรวจสอบการปฏิบัติราชการและระเบียบวินัย ที่สำคัญที่สุด จเรตำรวจนั้น ภาษาอังกฤษของทางราชการไทยใช้คำว่า General Inspector แต่ทางอเมริกันเขาใช้คำว่า Internal Affair Officer การตรวจระเบียบวินัย และการดำเนินการตรวจราชการของจเรตำรวจนั้น เป็นที่ยำเกรงของพวกตำรวจโรงพักเป็นอันมาก เพราะถ้าพบข้อบกพร่อง จะต้องถูกตั้งกรรมการสอบสวน ถูกลงทัณฑ์ เสียโอกาสในความเจริญก้าวหน้าทางราชการ และการตรวจของจเรตำรวจนั้น จะเต็มไปด้วยความเข้มงวด ไม่มีการผ่อนปรนเหมือนหน่วยเหนือ ที่เป็นฝ่ายบังคับบัญชาโดยตรงมาทำการตรวจ

ประมาณเกือบสี่สิบปีมาแล้ว จเรตำรวจท่านหนึ่งมีชื่อเสียงมากในด้านความดุและเข้มงวด ได้เดินทางมาตรวจราชการในจังหวัดภาคเหนือตอนบน ท่านได้ตั้งกรรมการสอบสวนนายตำรวจหลายนายตามโรงพักต่าง ๆ ระหว่างการตรวจราชการเรื่อยมา จนตรวจที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เสร็จก็เดินทางเข้าจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งท่านกำหนดการตรวจไว้สุดท้าย เพราะเป็นจังหวัดใหญ่และปัญหามากที่สุดด้วย

คณะของจเรตำรวจออกจากแม่สะเรียง ก็เป็นเวลาเกือบสามทุ่มแล้ว กว่าที่ขบวนของ ท่านจะเดินทางผ่านอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเขตติดต่อ ก็ดึกมากแล้ว ครั้นเมื่อผ่านเข้าเขต อำเภอสันป่าตองจะผ่านตลาด เป็นเวลาเดียวกันกับที่แม่ค้าลงของเสร็จกำลังจัดร้านเพื่อเตรียมค้าขาย ท่ามกลางอากาศหนาวเย็นจัด ท่านจเรตำรวจได้กวาดสายตาอันแหลมคม ไปสะดุดเอาภาพที่น่าประทับใจ เพราะท่านได้เห็นร่างของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ใต้แสงไฟฟ้าริบหรี่ ซึ่งค่อนข้างจะเลือนราง ไม่ชัดเจน

ตำรวจนายนั้นยืนถืออาวุธปืนยาวในมือขวา ผลักปากกระบอกปืนเฉียงไปข้างหน้า ในท่า “ตามระเบียบพัก” ของบุคคลประกอบอาวุธ ตามแบบฝึกของกรมตำรวจ (ที่เรียก โดยย่อว่า บ.ฝ.ต.) ดูทีท่าทางองอาจ เข้มแข็ง จเรท่านคงรู้สึกปลาบปลื้ม เพราะตำรวจที่ท่านเห็นนั้น ปฏิบัติหน้าที่อย่างตั้งใจและจริงจัง แม้เป็นยามที่ดึกดื่นและอากาศที่แสน หนาวเย็นปานนั้น ท่านจะสั่งให้หยุดรถลงไปทักทายก็ไม่ทัน เพราะขบวนเลยไปไกลและเป็นเวลาดึกมากแล้ว ท่านจึงเก็บภาพ ที่งดงามนั้นเอาไว้ในใจ!

เมื่อการตรวจราชการเสร็จสิ้นลง จเรฯได้เรียกประชุมนายตำรวจทั้งจังหวัด ท่านกล่าวถึงรายละเอียดของการตรวจราชการ เป็นรายอำเภออย่างค่อนข้างยาว ถึงตอนสุดท้ายของการประชุม ด้วยท่าทีเคร่งขรึมทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมรู้สึกยำเกรง ท่านกล่าวด้วยน้ำเสียง ก้องดังกังวาน ฟังแล้วน่าเกรงขาม “ข้าพเจ้าขอกล่าวสรุปว่า การปฏิบัติราชการของจังหวัดนี้โดยส่วนรวมแล้ว อยู่ในเกณฑ์พอใช้ได้เท่านั้น คงมีโดดเด่นอยู่เพียงบางอำเภอซึ่งเป็นส่วนน้อยมาก” เน้นคำว่า น้อยมาก เป็นพิเศษ แล้วกล่าวต่อ “ท่านทั้งหลายต้องร่วมแรง ร่วมใจ กันให้มากกว่านี้ เพื่อให้เราได้บรรลุภารกิจ ตามเป้าหมายของกรมตำรวจ ที่ได้มุ่งหวังเอาไว้ ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับประชาชน จึงขอให้ท่านตั้งใจมั่น ในการที่จะทำหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายของท่าน ให้ดียิ่งขึ้นไปอีกและอย่างไรก็ตาม”

จเรตำรวจเว้นระยะ กวาดสายตาที่เต็มไปด้วยพลังไปรอบ ๆ นายตำรวจเกือบทั้งหมด นั่งก้มหน้าไม่กล้าสบตา แม่กระทั่งท่านผู้กำกับการเองมีทีท่าค่อนไปทางอึดอัด จ้องมองแต่รองเท้าตัวเอง ได้ยินเสียงจเรตำรวจกล่าวต่อไปอีกว่า

“ข้าพเจ้าอดไม่ได้ ที่จะชมเชยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอสันป่าตอง ที่เข้าเวรดูแลความสงบเรียบร้อยในตลาดของอำเภอ ซึ่งข้าพเจ้าได้พบเห็น ในวันที่เดินทางมาถึง เพราะแม้กระทั่งในยามดึกดื่น สภาพอากาศหนาวเย็นมากก็ตาม แต่ตำรวจผู้เข้าเวร คืนนั้น ยังยืนถืออาวุธปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง”

ท่านส่งสายตามองไปที่ผู้กำกับการ ที่ยังคงนั่งเพ่งความมันของรองเท้าตัวเองหนักยิ่งขึ้น ไม่ยอมเงยหน้ามาสบตากับจเรตำรวจ “จึงขอให้ผู้กำกับการจังหวัดและผู้บังคับกอง สภ.อ.สันป่าตองผู้บังคับบัญชา พิจารณาความดีความชอบให้ตำรวจที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงเป็นพิเศษและให้ยึดถือเอาตำรวจผู้นี้ เป็นตัวอย่างในการปฏิบัติหน้าที่และความเข้มแข็ง” คราวนี้นายตำรวจทั้งจังหวัดที่เข้าร่วมประชุม นั่งก้มหน้านิ่ง บางคนกัดริมฝีปาก เพื่อไม่ให้หัวเราะ แต่ไม่มีใครสักคน ที่จะกล้าหาญพอที่จะลุกขึ้นบอกความจริงกับท่านจเรตำรวจว่า

“ท่านครับ นั่น ‘อ้ายเปา’ ครับ ไม่ใช่ตำรวจ!”

แม้ “อ้ายเปา” จะยุติบทบาทยืนเฝ้าตลาดสันป่าตองให้บรรดาพ่อค้าแม่ขาย โดยขึ้นไปยืนเฝ้ายามให้พระเจ้าบนสรวงสวรรค์มานานนับสิบปีแล้วก็ตามตำนานจ่าเปา ยังคงให้คนสันป่าตองระลึกถึงเสมอ

ข้อมูล จ่าเปาในตำนาน หรือสารวัตรใหญ่แห่ง รพ.สวนปรุง เขาชอบแต่งตัวเต็มยศเสมอ เป็นคนใจดีพูดดี ขึ้นรถโดยสารจากอำเภอรอบนอกไปประตูเชียงใหม่เสมอ โดยไม่เสียค่ารถ เจ้าของรถก็เต็มใจให้ขึ้น ถือว่าถ้าจ่าเปาขึ้นรถแล้วโชคดีวันนี้มีเงินตลอด จ่าเปาเสียชีวิตเนื่องจากเป็นโรคลมชักระหว่างขึ้นรถที่อำเภอหางดง เมื่อประมาณช่วงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2525 ในงานศพมีตำรวจจริงร่วมเป็นเจ้าภาพช่วยงานเต็มบ้านเลย วันฌาปนกิจศพมีนายอำเภอเดินนำหน้าขบวนศพให้เกียรติจ่าเปาคนยิ่งใหญ่เป็นครั้งสุดท้าย คนกาดสันป่าตองยุคนั้น จะรู้จักจักคนดัง 2 คน นั่นคือ เจ๊กโซ สิงห์ศาลเจ้า และ จ่าเปา สิงห์สามแยก ลักษณะเด่นของจ่าเปาอีกประการที่เล่าต่อกันมาคือ จะมีปากกาเกือบ 20 แท่ง เหน็บตรงที่กระเป๋าเสื้อ