ความรุ่งเรื่องวิถีวัฒนธรรมสันป่าตอง-รุ่งโรจน์ เปี่ยมยศศักดิ์

ความรุ่งเรื่องวิถีวัฒนธรรมสันป่าตอง
เรื่องโดย: รุ่งโรจน์ เปี่ยมยศศักดิ์

บทคัดลอกจาก กว่าจะเป็นรุ่งโรจน์ เปี่ยมยศศักดิ์ กับ101 เฮือนโบราณสันป่าตอง (72)

ความงดงามของศิลปชุมชน
คือความงดงามแห่งวิถีชีวิตหมู่ผู้คน
ที่ดำเนินอยู่ในสภาพแวดล้อมของตัวเอง

ภาพที่ปรากฏให้เห็น..
สร้างความตะลึงและประทับใจเรายิ่ง
ชุมชนสันป่าตองมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร
ชาวบ้านผู้คนแห่งนี้มีความรู้สึกนึกคิดแบบไหน
เหตุใดยังคงสืบทอดวิถีวัฒนธรรมพื้นถิ่นเดิมได้
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิตอล

อาจเพราะชุมชนหมู่บ้านลุ่มน้ำขาน
อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่มากพอ
โดยมีเขตหางดงคล้ายดั่งเหมือนกำแพงกั้น
ที่สามารถหยุดชะลอการบุกรุกล้ำในด้านวัตถุ
ทำให้หลายสิ่งที่ไม่เหมาะสมเคลื่อนช้าลงได้

เราจึงได้เห็นภาพของเฮือนโบราณสันป่าตอง
ภาพผู้คนในหมู่บ้านที่เน้นความพออยู่พอกิน
รู้จักกับชาวบ้านมีน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
ทั้งเห็นการแบ่งปันเพื่อให้ทุกคนพออยู่ได้

ต้องชื่นชมผู้นำภูมิปัญญาของที่นี่ในอดีต
ที่ได้รู้จักการสร้างสรรค์ทัศนคติเหล่านี้ขึ้นมา
รวมทั้งยังสามารถที่จะนำมาใช้ให้ชาวบ้านรับรู้
เป็นที่ประจักษ์ กระทั่งคนทั้งหลายได้ยอมรับ
และนำมาปฏิบัติใช้ได้จริงในวิถีชีวิตปัจจุบัน..

เรารู้จักระบบ เหมืองฝาย ปี พ.ศ.2480
ที่ เจ้าสีหมื่น วณีสอน ได้จัดวางระบบนี้ไว้แล้ว
โดยเลาะหาเส้นทางน้ำของเหมืองเก่าโบราณ
ทั้งเป็นผู้นำชาวบ้านมาช่วยกันขุดเลาะขึ้นใหม่
ก็เพื่อการบังคับทิศทางเดินของสายน้ำแม่ขาน
เริ่มตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ยาว 40 กิโลเมตร
จ่ายน้ำให้แก่ที่นาในเขตนี้ได้กว่า 20,000 ไร่
มีน้ำมากพอจนสามารถทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง

เจ้าสีหมื่นเป็นคนน้ำใจดี แต่ดุ เด็ดขาด
ท่านเป็นนายอำเภอคนที่สองของสันป่าตอง
มีความเข้มงวดในการจัดสรรแบ่งปันใช้น้ำกัน
ถ้าหากใครขโมยใช้น้ำโดย’ปิดเหมืองกลางลำ’
จะมีการลงโทษรุนแรงถึงขั้นเข็ดหลาบไปนาน
ทำให้การแบ่งปันใช้น้ำนี้เป็นไปโดยยุติธรรม

ด้วยลำบาก กว่าจะได้สายเหมืองเส้นนี้มา
โดยเริ่มขุดตั้งแต่บ้านเหมืองฟู ตำบลบ้านแม
และไปสิ้นสุดที่ฝายหลังถ้ำ ตำบลมะขุนหวาน
บางแห่งเป็นที่ดอนขุดยาก จนคนต่างร่ำลือกัน
เจ้าสีหมื่นได้ขอแรงชาวนากว่า 3 พันคนต่อวัน
เพื่อร่วมลงมือช่วยกัน ขุดเหมืองลึกถึง 8 เมตร
ซึ่งเป็นเรื่องยากขณะที่ใช้เวลานานถึง 6 เดือน
เรียกว่าคนที่ขุดอยู่ด้านล่างต้องแหงนคอตั้งบ่า
ถึงจะสามารถมองเห็นคนที่ยืนอยู่ข้างบนได้

นับเป็นวีรกรรมสำคัญ
ที่ชาวนาสันป่าตองเล่าขานต่อกันไม่รู้ลืม
ด้วยท่านไม่เคยเหยียบย่ำเอาที่นาของผู้ใด
มีเเต่ทุ่มเทช่วยเหลือทุ่มเทชาวนาคนในพื้นที่
การที่มิเอารัดเอาเปรียบและเสียสละของท่าน
กลายเป็นตำนานที่ทำให้เกิดความสำเร็จเช่นนี้
แม้ปีพ.ศ.2523 จะมีชลประทานแม่แตงของรัฐ
ได้จ่ายน้ำมาตามคลองชลประทานแทนที่แล้ว
เเต่ดูเหมือนว่ายังมีการตอบสนองได้ยังไม่เต็มที่
เมื่อถึงตันทศวรรษ 2540 ก็มีชาวนาพื้นที่ต้นน้ำ
ได้หวนกลับมาฟื้นฟูเหมืองเก่าเส้นนี้อีกครั้ง..