เฮือนโบราณสันป่าตอง : เฮือนแสนกุย-มหาอินทร์

เรื่องและภาพโดย : ศุภกิตติ์ คุณา

ก่อนอื่นต้องลำดับเรื่องย่อที่มาของเฮือนเก่า หรือบ้านเรือนสมัยโบราณทางภาคเหนือ ที่หลงเหลือให้เห็นในปัจจุบันไม่มากนัก ความสวยงามของสถาปัตยกรรมไม้ของช่างหรือสล่าไม้ล้านนา ที่สร้างบ้านเรือนล้วนแต่เป็นช่างชั้นครู ที่ปัจจุบันอายุก็มากขึ้นไปตามกาลเวลา มีแต่เพียงลูกหลานที่ยังสืบทอดรักษาไว้ต่ออายุของเฮือนโบราณ

อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีการสำรวจและอนุรักษ์เฮือนโบราณ ซึ่งพบมากถึงกว่า 100 หลัง ที่ยังคงมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน จากการเก็บข้อมูลสำรวจและจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์เฮือนโบราณสันป่าตองของอาจารย์รุ่งโรจน์ เปี่ยมยศศักดิ์ ศิลปินและเป็นคนในพื้นที่ ได้เห็นคุณค่าความสำคัญของสถาปัตยกรรมบ้านเก่าโบราณ ในบางพื้นที่ทรุดโทรม ฟื้นฟูให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ปัจจุบันเฮือนโบราณสันป่าตองถูกต่อยอดขยายความรู้ไปยังพื้นที่ต่างๆ รวมถึงเป็นที่สนใจและเป็นแหล่งศึกษาของนักศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ

เฮือนแสนกุย-มหาอินทร์ ตั้งอยู่ที่บ้านใหม่ม่วงก๋อน หมู่ที่ 7 ตำบลยุหว่า อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ลักษณะบ้านเป็นเฮือนไม้ 2 ชั้น มีใต้ถุนบ้าน หรือทางเหนือเรียกว่า “ปื้นกะล่าง” โดยเฮือนหลังนี้สืบทอดดูแลโดย ดร.ก้องเกียรติ มหาอินทร์ ทายาทรุ่นที่ 4 ปัจจุบันทำงานเป็นอาจารย์และดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ซึ่งเป็นคนบ้านใหม่ม่วงก๋อน

ดร.ก้องเกียรติ เล่าเรื่องราวเฮือนหลังนี้ว่า เป็นทายาทรุ่นที่ 4 บ้านหลังนี้เป็นบ้านของตระกูล ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.2496 ก็จะมีอายุครบ 70 ปีในปีหน้า เฮือนหลังนี้เป็นเฮือนของพ่อสุข แม่ตุ่น แสนกุย เป็นบ้านหลังแรกของตระกูล โดยบ้านหลังนี้ปรับปรุงเมื่อ พ.ศ.2563 แรกเริ่มจากตัวบ้านเริ่มทรุดเอียง จึงได้ติดต่อสล่าสอน ซึ่งเป็นคนบ้านใหม่ม่วงก๋อน ซึ่งเป็นช่างที่มีความเข้าใจในเรื่องบ้าน เข้ามาดูแลการปรับปรุงซ่อมแซม ใช้วัสดุเดิมตามบ้านเก่าทุกอย่างไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก เพื่อที่จะรักษาร่องรอยฝีมือของต้นฉบับไว้ ส่วนใหญ่จะเข้ามาดูแลรายละเอียดของตัวบ้านในการซ่อมแซมเองกับสล่าสอน แม้ว่าวัสดุหลายอย่างต้องประกอบใหม่หรือหามาทดแทน ก็ไปหามาเองทั้งในเชียงใหม่และลำพูน

แป๋งใหม่หื้อเก่า คือ สร้างใหม่แต่ให้ดูเก่า

แนวคิดการซ่อมแซมของ ดร.ก้องเกียรติ

ด้วยความที่อุปกรณ์หลายอย่างไม่สามารถใช้ของเก่าได้ จึงต้องหาอันใหม่มาทดแทน เช่น ไม้ที่ใช้ซ่อมแซมนั้น เป็นไม้ใหม่แต่ต้องทำสีให้มันดูเก่า เพื่อให้กลืนกับไม้โครงสร้างเดิม แนวคิดการซ่อมแซม ทำคนงานกับสล่าปวดหัวไปพอสมควร

แรงบันดาลใจการฮักษาเฮือนเก่า

เริ่มจากที่ตัวของ ดร.ก้องเกียรติ ซึ่งมีความผูกพันและอาศัยอยู่เรือนโบราณมาก่อนตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็ก ยอมรับว่าตอนนั้น อายเพื่อนเพราะอยู่บ้านเก่า และได้เห็น อ.รุ่งโรจน์ เปี่ยมยศศักดิ์ โพสต์เฟสบุ๊ก เกี่ยวกับการวิจัยศึกษาบ้านเก่า เรือนโบราณต่างๆ จึงเห็นว่า สวยงาม จึงเป็นแรงบันดาลใจ ให้กลับมาดูบ้านของตนเอง ซึ่งเป็นบ้านไม้เก่าเหมือนกัน

เฮือนแสนกุย มหาอินทร์ ปัจจุบันเป็นบ้านเก่าที่ใช้ศึกษาและถอดแปลน โดยรองศาสตราจารย์ ดร. เกรียงไกร เกิดสิริ และกลุ่มนักศึกษาจากหลักสูตรนานาชาติ ระดับปริญญาโท-ปริญญาเอก สาขาการจัดการมรดกทางสถาปัตยกรรมกับการท่องเที่ยว (M.A. and Ph.D. in Architectural Heritage Management and Tourism) และสาขาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

และได้รับรางวัลการเชิดชูเกียรติ เฮือนต้นแบบในการอนุรักษ์เฮือนโบราณ โดย สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับศูนย์อนุรักษ์เฮือนโบราณสันป่าตอง ประจำปี พ.ศ.2565

กลุ่มนักศึกษาจากหลักสูตรนานาชาติ ระดับปริญญาโท-ปริญญาเอก สาขาการจัดการมรดกทางสถาปัตยกรรมกับการท่องเที่ยว

Reference:

  • รุ่งโรจน์ เปี่ยมยศศักดิ์ (2565), เฮือนแสนกุยมหาอินทร์, ศูนย์อนุรักษ์เฮือนโบราณสันป่าตอง สืบค้นจาก https://www.facebook.com/110643277011192
  • ดร.ก้องเกียรติ มหาอินทร์, ผู้ดูแลเฮือนแสนกุยมหาอินทร์, 18 สิงหาคม 2565

หมายเหตุ: เฮือนแสนกุยมหาอินทร์ ยังไม่เปิดทำการเป็นสาธารณะหรือหากต้องการเยี่ยมชม การนำคณะเข้าไปศึกษาเรียนรู้ ขออนุญาตโดยผ่าน ศูนย์อนุรักษ์เฮือนโบราณฯ สันป่าตอง จ.เชียงใหม่