กาดงัว เดอะซีรีส์ ตอน.ประวัติยุคก่อตั้งกาดงัว
เรื่องโดย ศุภกิตติ์ คุณา

สวัสดีครับ กาดงัวเดอะซีรีส์วันนี้ ตอนที่ 3 แล้วนะครับ ตอนนี้ยาวหน่อย แต่ครบถ้วนแน่นอนครับ วันนี้เรามารู้จักกาดงัว ในยุคก่อตั้งแรกๆกันดีกว่าครับ ถ้าหากว่าเราจะหาข้อมูลประวัติเรื่องราวของกาดงัวนั้น มีคนบอกว่า ต้องไปถามป้าบัวผิน ว่าแล้ว ป้าบัวผินเป็นใคร ติดตามได้ในซีรีส์นี้เท่านั้นครับ

ก่อนอื่นผมจะเล่าคร่าวๆให้ทุกคนรู้จักก่อนนะครับว่า ป้าบัวผิน หรือ บัวผิน ลอมศรี เป็นเจ้าของพื้นที่ตั้งกาดงัว (ตลาดนัดทุ่งฟ้าบด) ปัจจุบัน(พ.ศ.2560) อายุ 80 ปีแล้ว แต่ป้ายังสุขภาพแข็งแรงดีครับ ซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลนี้กับผมครับ

ป้าบัวผิน ได้เล่าประวัติของกาดงัว โดยอ้างอิงจากบันทึกว่า กาดงัว หรือ ตลาดนัดทุ่งฟ้าบด ปัจจุบันตั้งอยู่หมู่ 15 ตำบลยุหว่า อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มจัดตั้งขึ้นและติดตลาดครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2502 โดยนายสม ลอมศรี เป็นผู้บริหารงาน โดยมีจุดประสงค์การจัดตั้งตลาดนัดแห่งนี้ขึ้นก็คือ เป็นบริเวณที่จัดตั้งเป็นสวนไม้ผล แต่ไม่ได้รับผลจากต้นไม้เหล่านั้นเท่าที่ควรจึงต้องการให้สวนและที่ดินมีราคาและมีความเจริญดีกว่าเดิมและต้องการให้พ่อค้าแม่ค้า นำของมาค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งกันและกัน โดยก่อนหน้านั้นมักซื้อขายวัวควายกันตามใต้ถุนบ้านในหมู่บ้านเล็กๆ ไม่ได้รวมตัวกันเป็น ตลาดใหญ่เช่นปัจจุบัน ในแต่ละวันเสาร์ จะมีพ่อค้านำวัวควายมาจำหน่ายที่ตลาดแห่งนี้ มากกว่า 700 ตัว และจะขายได้ในราวครึ่งหนึ่ง ซึ่งราคาวัวควาย จะตกราวประมาณตัวละ 6,000-10,000 บาท ทำให้มีเงินหมุนเวียน อยู่ในตลาดแห่งนี้ หลายล้านบาท

นายสม ลอมศรี ผู้บริหารงานของตลาดนี้จึงได้ประกาศให้พ่อค้าแม่ค้า มาค้าขายในตลาดนี้ โดยได้นำลิเก ซอพื้นเมือง มาแสดงให้พ่อค้าแม่ค้า และประชาชนที่เข้ามาซื้อขายของในตลาดนี้เป็นเวลานานพอสมควร เห็นว่าพ่อค้าแม่ค้า และประชาชนมาซื้อขายในตลาดแห่งนี้จนติดแล้ว จึงเลิกการแสดงมหรสพต่างๆ ต่อมาในระยะปลายปี พ.ศ.2502-2504 มีพ่อค้าแม่ค้า เริ่มมาค้าขายกันน้อยลง และมีเหตุขัดข้องบางประการ ทำให้นายสม ลอมศรี จึงได้ตัดสินใจปิดตลาดลงในปี พ.ศ.2505-2506 เป็นเวลา 2 ปี ซึ่งสาเหตุที่ปิดตลาดนัดก็คือ มีผู้ต้องการเปิดตลาดแข่งขันซึ่งอยู่ใกล้ๆตลาดแห่งนี้ พ่อค้าแม่ค้าถูกตำรวจไล่จับรถเพราะรถไม่มีทะเบียน อีกทั้งตำรวจยังไล่จับวัวคลายของพ่อค้าที่ไม่มีตัวพิมพ์

ต่อมาในปี พ.ศ.2507 ตลาดที่เปิดแข่งขันที่อยู่ใกล้ๆนี้เริ่มปิดตัวลง นายอินสอน ลอมศรี ซึ่งเป็นบุตรชายของนายสม ลอมศรี ซึ่งได้ถึงแก่กรรมไป ทำให้นายอินสอน ลอมศรี พร้อมกับน้องและญาติๆ จึงได้ประกาศเปิดตลาดแห่งนี้อีกครั้งหนึ่ง และได้เชิญพ่อค้าแม่ค้า มาค้าขายในตลาดแห่งนี้อีกครั้ง ในปี พ.ศ.2507 ก็มีพ่อค้าแม่ค้า มาค้าขายพอสมควร และเริ่มมีพ่อค้าแม่ค้า มาค้าขายเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งระเบียบการจัดตั้งตลาดแห่งนี้ ได้ขอใบอนุญาตและเสียภาษีรายได้ให้กับอำเภอ ซึ่งเนื้อที่ตลาดทั้งหมดมีประมาณ 17 ไร่เศษ นำมาใช้ประโยชน์ในการค้าขาย ประมาณ 8 ไร่ ที่น่าสนใจก็คือ วัตถุประสงค์ในการซื้อวัวควายในปัจจุบันนั้นเปลี่ยนแปลงไปแล้ว นายอินสอน เล่าว่า สมัยก่อนคนมากาดวัวควายเพื่อหาซื้อวัวควาย ไปใช้งานในไร่นา เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นช่วงเวลาที่มีการค้าขายและคึกคักที่สุด ก็คือช่วงเข้าฤดูการทำนานั่นเอง หากแต่ในวันนี้ วัวควายส่วนใหญ่จะถูกส่งไปยังโรงฆ่าสัตว์ มารับซื้อครั้งหนึ่งๆ เป็นคันรถ ความคึกคักของกาด และราคา วัวควาย จึงมิได้ขึ้นอยู่กับฤดูกาล การทำนา แต่ขึ้นอยู่กับราคาเนื้อในตลาดเป็นสำคัญ แม้ว่าทุกวันนี้วัวควายใน ไร่นาในประเทศจะน้อยลง แต่กาดวัวควายยังคงคึกคัก อยู่เช่นเดิม เพราะพ่อค้าแม่ค้าจะนำเข้าวัวควาย มาจากฝั่งประเทศลาว ตลาดนัดทุ่งฟ้าบด 20-30 ปีหลังมานี้ ไม่เพียงแต่มีวัวควายเพียงเท่านั้น ยังมีสินค้าหลากหลายชนิด ทั้งจักรยาน มอเตอร์ไซด์ ข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน และในไร่นา เสื้อผ้า และ อาหาร ชาวบ้านบอกว่า กาดวัวความก็เปรียบเหมือนห้างสรรพสินค้าของคนชนบทนั่นเอง

ป้าบัวผิน ลอมศรี เล่าว่า ปัจจุบันกาดงัว หรือตลาดนัดทุ่งฟ้าบด มีเจ้าของที่ดินอีกหลายเจ้าที่เปิดให้ค้าขาย เท่าที่ทราบก็คือที่ดินของ ป้าศรีนวล พรหมขัติแก้ว เป็นต้น ซึ่งเป็นที่ดินในบริเวณพื้นที่ตลาดในปัจจุบันที่มีการขยายออกไป ซึ่งจะเห็นได้ว่า ตลาดนัดเริ่มจะมีสองฝั่งถนน ซึ่งอีกฝั่งถนนจะเป็นพื้นที่ในเขตตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ที่เรียก กาดงัว ก็เรียกมาตามตลาดซึ่งตอนนั้น ค้าขายวัวควาย และกาดงัว เป็นชื่อภาษาท้องถิ่น แปลว่าตลาดวัว และเพื่อความเป็นสมัยสากล จึงเปลี่ยนเป็นชื่อ ตลาดนัดทุ่งฟ้าบด ตามชื่อของสถานที่หรือย่านแห่งนี้ บ้างก็เรียก กาดเสาร์ กาดนัดทุ่งฟ้าบด หรือภาษาวัยรุ่นจะเรียกว่า เดอะมอ ซึ่งเป็นชื่อมาจากเสียงร้องของวัวนั่นเอง เป็นต้น

ขอขอบคุณป้าบัวผิน ลอมศรี สำหรับเปิดบ้านต้อนรับนะครับ อย่าลืมติดตาม กาดงัว เดอะซีรีส์ ในตอนหน้านะครับ แล้วปะกั๋นครับ

ภาพประกอบ กาดงัว พ.ศ.2524 จาก Sira Tuang